วันอังคารที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ท่อไอเสีย (การเดินท่อและหม้อพัก)

          สิ่งนี้มักจะเป็นจุดแรกที่คนส่วนมากลงมือทำเพราะไม่ต้องมีการดัดแปลงเครื่องยนต์และในรถส่วนใหญ่ก็จะมีผลทำให้แรงม้าสูงขึ้นขับแล้วรู้สึกลากรอบไปไวขึ้น แม้ในบางครั้งมันคือเสียงท่อที่หลอกความรู้สึกเราอยู่ก็ตามระบบไอเสียทั้งระบบนี้นับตั้งแต่ช่วงหลังจากเครื่องกรองไอเสียไปจนสุดปลายหม้อพักท้ายสิ่งที่กำหนดว่ารถจะได้แรงขึ้นได้แค่ไหนก็อยู่ที่เส้นผ่านศูนย์กลางของท่อและความอั้นของหม้อพักแต่ละใบ
ท่อ RM01A จาก Fujitsubo เป็นท่อไส้ตรงที่ออกแบบมาเพื่อแรงบิดรอบกลาง-สูง (Fujitsubo.co.jp)

          หม้อพักไอเสียของรถที่ออกมาจากโรงงานมักจะเป็นหม้อพักแบบที่เรียกกันว่า "ไส้ย้อน" อันหมายถึงการที่ไอเสียไหลเข้าไปในหม้อพักและถูกบังคับให้วิ่งวนไปตามห้องในหม้อพักที่กั้นไว้เป็นส่วนๆทะลอดห้องนั้นทะเล็ดห้องนี้กว่าจะออกมาที่ปลายอีกด้านได้ก็เหนื่อยท่อไอเสียแบบนี้ให้เสียงที่เงียบขับแล้วมีความสุขแต่อัดรอบสูงๆเมื่อไหร่ไอเสียจะจุกออกไม่ทันการ
          ดังนั้นเราจึงมีหม้อพักแบบ "ไส้ตรง" ซึ่งก็คือไอเสียเข้ามาทางด้าน A และออกทางด้าน B โดยเป็นท่อเดียวกันตลอดโดยหม้อพักมีหน้าที่เอาไว้ช่วยซับเสียงที่เกิดขึ้นจึงเป็นที่นิยมในการแต่งรถเพราะช่วยให้ไอเสียออกได้เร็วและโล่งกว่าเดิม
          ยังง...ยังไม่จบเขายังมีหม้อพักอีกแบบคือ "ไส้วน" อันนี้พบเห็นได้มากในท่อแต่งของ MUGEN (Honda) ซึ่งยิงไอเสียเข้าทางฝั่ง A ผ่านเข้าไปในหม้อพักและทะลุออกอีกด้านแต่ไม่ได้ทำเป็นปลายท่อเปิด..เพราะท่อที่โผล่ออกมาจะถูกดัดให้โค้งหันกลับมาและวิ่งเส้นเลียบตามแนวยาวขนานไปกับภายนอกของหม้อพักก่อนที่จะวนกลับเข้ามาผ่านหม้อพักอีกครั้ (ในตำแหน่งที่ไม่ทับซ้ำกับท่ออันเดิม) และค่อยปล่อยไอเสียออกปลายท่อได้ในที่สุด..แนวคิดคือดูล้ำ..แปลก..เท่ห์..แรงและเสียงไม่ดังรบกวนมากเกินไปอย่างในภาพข้างล่างนี้เป็นต้น

          โดยทั่วไปแล้วรถที่ทำมาแข่งในสนามคุณมักพบว่ามีการเดินท่อตรงยิงเป็นเส้นตรงให้ได้มากที่สุดจากเครื่องยนต์มาออกด้านท้ายรถหรือด้านข้างรถโดยไม่มีหม้อพักเลย หรือถ้าไม่เช่นนั้นก็มีหม้อพักเพียงใบเดียวโดยไม่มีเครื่องกรองไอเสียวิธีนี้ระบบไอเสียจะมีความอั้นน้อยมากเพราะระบบไอเสียยิ่งมีหม้อพักน้อยก็ยิ่งมีตัวกวนการไหลออกของไอเสียน้อย แต่ผลเสียคือเสียงดังชนิดขี้หูร่วงเอาไว้แข่งในสนามได้แต่กับการใช้งานบนถนนผมแนะนำให้ใช้หม้อพักสองใบแต่ละใบยาวที่สุดเท่าที่จะทำได้บอกช่างทำท่อให้ยัดใยแก้วแน่น ๆ เพราะเมื่อคุณอยู่บนถนนย่อมไม่ดีแน่ถ้ากดคันเร่งแล้วเสียงพุ่งทะลุ 90 เดซิเบล เครื่องวัดเสียงกับคุณจ่ามาเมื่อไหร่หมดสิทธิเถียงใบสั่งมาทันทีครับและถ้ายิ่งเป็นรถที่ใช้งานในชีวิตประจำวันผมไม่ค่อยอยากให้ถอดเครื่องกรองไอเสียออกเพราะเป็นความรับผิดชอบต่อสังคม


ส่วนเรื่องจะเลือกขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางท่อเท่าไหร่นั้นผมขอบอกแบบไม่ต้องใช้สูตรคำนวณเอาแบบที่เป็นประสบการณ์มาบอกกันเลยดีกว่า
          เครื่องยนต์ 1.5 - 1.6 ลิตร ทั่วไปที่แรงม้าต่อลิตรไม่ถึง 100 เช่น L15 ของ Honda Jazz, 1NZ-FE ของ Vios/Yaris, HR16DE ของ Tiida หรือ เครื่องยุคเก่าขนาดใกล้เคียงกันเช่น 4A-FE, 5A-FE, GA16DE, QG16DE นั้นขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของท่อทั้งระบบจะอยู่ระหว่าง 1.5-2.0 นิ้ว ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องโตไปกว่านี้ ในกรณีที่เป็นรถเกียร์อัตโนมัติและเน้นการใช้งานแบบเอาตีนต้นให้เลือกท่อขนาด 1.7 นิ้ว หรือเล็กกว่าจะเหมาะมากผมเคยแตะ Nissan Sunny NEO QG16DE ของเพื่อนสมัยเรียนที่มหาวิทยาลัย โละท่อชุดเดิมทั้งเส้นออกใส่เป็นท่อเส้นผ่านศูนย์กลาง 1.7 นิ้ว พร้อมหม้อพักสองใบให้สมรรถณะตีนต้นแทบไม่ต่างจากของเดิมแต่ช่วงกลางกับปลายนั้นดีขึ้นอย่างชัดเจนหลายท่านก็ทราบกันดีว่า NEO 1.6 เกียร์อัตโนมัติวิ่งได้ไม่เร็วนักแต่เพียงแค่ท่อชุดนี้ NEO คันของเพื่อนผมสามารถทำความเร็วได้ 185 บนหน้าปัด ถือว่าดีขึ้นกว่าเดิมแบบชัดเจนคุ้มกับเงินที่ลงทุนไป

          สำหรับรถเกียร์ธรรมดาที่มีแผนจะทำฝาสูบใส่ลูกสูบหัวนูนหรือปาดฝาเพิ่มกำลังอัดในภายหลัง ให้เลือกท่อขนาด 2 นิ้ว เอาไว้ก่อนเพราะดูจากแนวทางการแต่งเครื่องทำนองนี้ คนขับน่าจะทำใจได้กับการเสียแรงบิดในรอบต่ำไปบ้าง แต่ผลแลกเปลี่ยนที่ได้จากรอบสูงน่าจะคุ้มค่าคนที่เอาเครื่องรถบ้านมาแต่งระดับนี้ก็ไม่น่าจะอดกลั้นขับช้า ๆ ได้มากนักหรอกจริงไหม?

          ส่วนเรื่องของการเดินท่อไอเสียนั้นเครื่องยนต์ NA ที่ความจุต่างกันจะมีความต้องการขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของระบบท่อไอเสียไม่เหมือนกันเหตุผลก็เพราะว่าเครื่องยนต์มีปริมาตรไอเสียที่ถูกขับออกมาไม่เท่ากันแต่เครื่องยนต์จะมีกำลังดีก็ต่อเมื่อบรรดาไอเสียที่ไหลออกมีความเร็วต่อเนื่อง (ประมาณ 200 - 300 ฟุตต่อวินาทีนี่เป็นความเร็วของไอเสียที่ออกจากพอร์ทมาและในช่วงที่เครื่องยนต์สร้างแรงบิดสูงสุดนั้น ความเร็วไอเสียออกจากพอร์ทจะอยู่ประมาณ 250 ฟุตต่อวินาที) การกำหนดความเร็วในการไหลของไอเสียส่วนหนึ่งจึงขึ้นอยู่กับขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของระบบไอเสียนั้น ๆ
- เครื่องเล็กไอเสียน้อยไหลผ่านท่อเล็กๆไอเสียจะรักษาความเร็วไว้ได้
- เครื่องเล็กไอเสียน้อยไหลผ่านท่อโตๆไอเสียจะมีที่ให้กระจัดกระจายไปได้เยอะความเร็วในการไหลออกก็ต่ำส่งผลให้แรงลดน้อยถอยลงโดยไม่จำเป็น
- เครื่องใหญ่ไอเสียเยอะขืนใช้ท่อเล็ก ๆ ไอเสียกลับไม่มีที่จะไปก็เกิดอาการอั้นโดยเฉพาะเมื่อรอบสูงๆและในเกียร์สูงจะเห็นผลชัดเจน

          ส่วนเครื่องยนต์ขนาด 1.6 - 1.8 ลิตร ที่ปั่นรอบจี๋สร้างแรงม้าระดับ 160 - 180 ตัวอย่าง B16A หรือ 4A-GE 20 วาล์วฝาดำนั้นเอามาใส่ท่อ 1.7 นิ้ว รับรองว่าถ้าเครื่องยนต์มีมือมันยื่นมาเขกกบาลคุณแน่เพราะแม้ความจุจะเล็กแต่ภายในช่วงเวลา 1 นาทีนั้น จำนวนไอเสียที่สร้างออกมาเยอะด้วยรอบเครื่องที่สูงฉะนั้นก็ต้องขยับไปใช้ท่อไอเสียขนาด 2.2 นิ้ว เป็นขั้นต่ำ และหากมีการทำฝาสูบเปลี่ยนแค็มองศาสูงขึ้นก็ค่อยขยับเป็น 2.5 นิ้ว ไม่มีความจำเป็นที่เครื่องเดิม ๆ จะใช้ท่อ 2.5 นิ้วครับ

          ขยับมาต่อที่พิกัดขนาด 1.8 - 2.0 ลิตร ทั่วไป เช่น Civic 1.8, Civic 2.0, Lancer 2.0 และ Altis 2.0 ขนาดของเส้นผ่านศูนย์กลางระบบไอเสียที่ใช้โตกว่ารถระดับ 1.5-1.6 ลิตร โดยทั่วไปแล้วสามารถเลือกใช้ขนาด 2.0 นิ้ว ซึ่งมีความเป็นกลางและรักษาแรงบิดในรอบต่ำได้ดีพอ ๆ กับช่วยให้รอบสูงลื่นขึ้น สามารถใช้ได้กับเกียร์อัตโนมัติและเครื่องยุคใหม่ที่มีระบบแคมชาฟท์แปรผัน
          ผมเคยลองเล่นกับรถตัวเอง..ก็ไอ้ปลาดุกวางเครื่อง 2.0 ลิตร ไม่มีเทอร์โบนั่นแหละครับ โดยในช่วงแรกหลังวางเครื่องเสร็จใหม่ ๆ ผมยังให้เครื่อง SR20DE 150 แรงม้า ของผมดำเนินการปล่อยขี้(ไอเสีย) ของมันผ่านท่อขนาด 1.7 นิ้ว ซึ่งเคยใช้มาก่อนกับเครื่อง GA16DE เดิมเครื่องใหญ่ท่อเล็กแรงบิดในช่วงออกตัวดีมากแต่ไปได้ดีแค่เกียร์ 1 กับ 2 พอเกียร์ 3 และ 4 ผมรู้สึกเหมือนเสียงท่อจะอั้นแต่ก็เก็บข้อมูลไว้ก่อนทดลองทำอัตราเร่ง 0 - 180 ทำได้ราว 28 วินาที ควอเตอร์ไมล์ได้ 16.0 วินาทีความเร็วสูงสุดไม่ได้วัดแต่ 208 ก็เริ่มไหลช้าแล้ว

          จากนั้นผมลองค้นหาข้อมูลจาก sr20forum.com ก็มีคนแนะนำให้ใช้ท่อไอเสียขนาด 2 นิ้ว บ้างก็ว่า 2.25 นิ้ว(บ้านเราเรียก 2.2) ผมเลยโทรเรียกตา Tee_Abuser แล้วตรงดิ่งไปหาพี่เปี๊ยกธันเดอร์ช่างทำท่อที่นักแข่งหลายคนรู้จักกันดีพร้อมกับแจ้งความจำนงค์ยื่นขอความแรงพี่เปี๊ยกคะช่วยขยายท่อให้หนูทีเถิดขอเป็นขนาด 2.2 นิ้ว เลยอยากรู้ว่าจะมีอะไรให้ต่างกันอีกกว่านี้ไหมจากการขยายขนาดท่อเพิ่มขึ้น 0.5 นิ้ว
พี่เปี๊ยกก็ว่าง่ายครับทำท่อดัดทรายให้ผมอย่างดี(รอจน 4 ทุ่มเลย) แต่ตอนใกล้ทำท่อเสร็จพี่เปี๊ยกจู่ ๆ ก็มาแนะผมว่า "เครื่องของคุณเครื่องเดิมสนิทแค็มก็ยังไม่ได้ทำจริง ๆ ใช้ 2.2 นิ้วทั้งเส้นจะโล่งไปนะ"
ผมเลยถาม "แล้วในความเห็นพี่เปี๊ยกถ้าเป็นพี่จะใช้แบบไหนล่ะครับ"
"ออกจากตูดเฮดเดอร์ใช้ 2 นิ้วหลังหม้อพักกลางไปใช้ 2.2 นิ้ว"
          อันนี้เขียนไว้ให้ลองคิดกันส่วนตัวผมคิดว่าแกมีประสบการณ์ด้านท่อมากกว่าผมหลายสิบเท่าขนาดที่แกระบุมาอาจจะไปได้ดีกับเครื่องเราก็ได้แต่กว่าจะถึงตอนนั้นท่อขนาด 2.2 นิ้ว ทั้งเส้นก็เข้าไปอยู่ในรถผมเรียบร้อยแล้ว

เอาไปลองวิ่งกันดูเลยดีกว่า
          0 - 100 บอกได้เลยว่า..แทบจะไม่ต่างจากเดิมเลยครับ แถมการดีดตัวออกเวลากดคันเร่งจากรอบเดินเบาก็ไม่กระชากเท่าเดิมแม้ว่ารอบเครื่อง 2500 - 7000 จะรู้สึกค่อนข้างปกติ แต่ความต่างมันเกิดขึ้นหลังจากนี้ครับ..ผมลองวัดอัตราเร่ง 0 - 180 เช่นเดิมโดยให้ Tee_Abuser ป็นคนจับเวลาผลปรากฏว่าใช้เวลาน้อยกว่าเดิม 4 วินาที ไอ้การที่ 0 - 100 ได้เท่าเดิมแต่ 100 - 180 เร็วขึ้นนั้นก็เป็นผลมาจากรอบเครื่องในช่วงปลายเมื่อไอเสียไหลออกได้คล่องเกียร์ 3 ของรถผมซึ่งรับผิดชอบความเร็วจาก 110 - 170 ก็เลยแสดงฤทธิ์เดชได้ชัดเจนขึ้น
          เมื่อเอาไปวิ่งควอเตอร์ไมล์ก็ได้ 15.8 - 15.9 วินาที ความเร็วเข้าเส้นเพิ่มจากระดับ 141 - 142 เป็น 143 - 144 ../.. น่าจะตอกย้ำได้ว่าผลที่เกิดขึ้นนั้นมากจากรอบปลายและเกียร์สูงเสียส่วนมาก
          ดังนั้นใครที่ใช้รถ 2.0 ลิตร เกียร์อัตโนมัติ คงรู้แล้วใช่มั้ยครับว่าสูตรพี่เปี๊ยกน่าหยิบไปใช้มากกว่าของผมและไม่มีความจำเป็นต้องใช้ท่อมหึมา 2.5 - 3.0 นิ้ว สำหรับ Lancer หรือ Civic คันโปรดของคุณเลยแม้แต่น้อย
          ส่วนรถระดับ 2.4 ลิตร และ 2.5 ลิตร ในบ้านเราส่วนมากใช้ขนาด 2.2 นิ้ว ขึ้นไปจนถึง 2.5 นิ้ว เครื่องยนต์ระดับ Teana 250XV หรือ 1JZ-GE จากโรงงานใช้ท่อขนาด 2.5 นิ้ว นี่ถือว่าพอแล้วครับถ้าไม่ได้แต่งฝาสูบหรือทำแค็มมาซึ่งคงมีน้อยคนนักที่จะทำส่วนขนาดระดับ 3 นิ้ว นั้นคงไม่ต้องสงสัยเลยว่าเก็บไว้สำหรับพวก V6 บล็อคโต ๆ ที่สร้างม้ากัน 250 - 350 ตัวได้เลย
หม้อพักฝีมือคนไทยทำสังเกตปลายท่อที่มีรูภายในเล็กเกิดจากการทำท่อทรงเหมือนไฟฉายและยัดขันน็อตเข้าไปเก็บเสียงดีนะ แต่อั้นขึ้น

          บทสรุปของท่อไอเสียก็คือ เลือกขนาดให้เหมาะกับการใช้งานสังเกตได้ว่าผมมักจะระบุขนาดเป็นช่วง ๆ ไม่ฟันธงเช่น 1.7 - 2.2, 2.2 - 2.5 เพราะขึ้นอยู่กับวิธีการขับขี่ของแต่ละคนด้วยครับ หากใช้ในเมืองและต้องเร่งออกตัวจากจุดหยุดนิ่งบ่อย ๆ ผมมักจะให้ใช้ท่อที่ค่อนข้างเล็กลงมาเพื่อแรงบิดในรอบต้นที่ดีรวมถึงพวกรถเกียร์อัตโนมัติด้วย เช่น กันแต่สำหรับบางคนทั้งชีวิตอยู่แต่สนามแข่งกับถนนเปิดโล่งหรือขับรถเกียร์ธรรมดาซึ่งสามารถกระชากล้อฟรีออกตัวป้องกันไม่ให้รอบร่วงลงมาต่ำ ๆ ได้ท่อขนาดค่อนไปทางใหญ่ก็จะให้รอบในเกียร์ปลาย ๆ ที่กวาดลื่นกว่า 

เนื้อหาบทความและรูปภาพจากคอลัมน์ Fart & Furious โดย Commander CHENG จาก www.headlightmag.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น