วันพุธที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2554

เรื่องของกล่องเทพไม่เทพอยู่ที่การใช้งานให้คุ้มค่า

          ในยุคแห่งโอเดงย่าและการ์ดดราก้อนบอลเราอาจจะรู้จักหนทางในการปรับแต่งการจ่ายน้ำมันและไฟจุดระเบิดของเครื่องยนต์ด้วยชิพแต่งกล่อง Pre-program จากสำนักดัง ๆ ราคาแพง ๆ หรือ วิธีอื่น ๆ เช่น กล่องหลอกไฟจุดระเบิดแต่ในยุคที่เด็กประถมพก Blackberry อย่างนี้วิทยาการยุคใหม่ก้าวไกลจนทำให้เราสามารถหาวิธีปรับจูน ECU ได้ละเอียดขึ้นในราคาที่ถูกลง(เมื่อเทียบกับรายได้ของคนส่วนใหญ่)
          คำว่ากล่องแต่ง, กล่องจูน, จูนกล่อง, พ่วงกล่องกลายเป็นเรื่องปกติสำหรับการแต่งรถไปแล้วไอ้คำว่ากล่องที่พูดถึงกันนั้นก็แยกออกเป็น 2 แบบหลัก ๆ ที่ได้รับความนิยมและใช้ได้ดีในปัจจุบัน

1)กล่องจูนแบบพ่วงหลอกสัญญาณกล่องเดิม หรือ จูนเนอร์ชอบเรียกว่า "Piggyback"(ฝรั่งเรียก Interceptor) ซึ่งกล่องจูนพวกนี้จะอยู่โดยปราศจากกล่อง ECU ติดรถเดิมมิได้ เพราะตัวมันเองทำงานโดยการหลอกสัญญาณขาเข้าหรือขาออกจากกล่องที่จะมีผลต่อการสั่งการจ่ายน้ำมัน(เช่น ด้วยการหลอกค่า airflow เพื่อปรับการจ่ายน้ำมัน) หรือการจุดระเบิดของเครื่องยนต์ กล่องพวกนี้มีข้อดีคือราคาไม่แรงติดตั้งไม่ยาก มีความแพร่หลายหาซื้อได้ง่าย นอกจากนี้การจูนกล่องประเภทนี้มักจะเริ่มจูนจากค่าเดิมของกล่องติดรถ หรือใช้โปรแกรม Light tuning ที่แถมมากับซอฟท์แวร์กล่อง ทำให้เสียเวลาในการจูนน้อยกว่าเพราะอยากจะปรับอะไรก็ปรับแค่ส่วนนั้นอยากจะปรับองศาจุดระเบิดเฉพาะรอบปลายก็ทำเฉพาะจุดนั้น พอดังนั้นค่าจ้างจูนเนอร์ก็จะถูกเงินลงไปด้วย
          กล่องประเภทนี้มักมีความสามารถในขั้นพื้นฐาน คือปรับการจ่ายน้ำมันปรับองศาจุดระเบิด แต่กล่องบางรุ่นจะมีฟังก์ชั่นอื่น เช่น ปลดล็อคความเร็ว 180, ปลดล็อครอบเครื่องยนต์หรือใส่โปรแกรมตัดรอบสำหรับการออกตัวในสนามแข่งให้ได้ด้วย
          ตัวอย่างกล่องประเภทนี้ ได้แก่ กล่อง F-Con S, F-Con SZ, F-Con iS ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ของ HKS หรือ E-Manage และ E-Manage Ultimate ซึ่งเป็นของ Greddy (Trust)
2) กล่องจูนแบบครบระบบหรือ "Standalone" ซึ่งอาจจะย่อมาจาก Standalone Engine Management System ซึ่งก็หมายความว่ากล่องใบนี้จะสามารถต่อใช้งานได้สองแบบ คือจะต่อพ่วงกับกล่อง ECU เดิมเพื่อให้กล่องECU เดิมทำหน้าที่ควบคุมระบบไฟฟ้าต่าง ๆ ต่อไป และใช้กล่อง Standalone ในการสั่งการจ่ายน้ำมันและไฟจุดระเบิด หรือฟังก์ชั่นอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเครื่องยนต์ หรือถ้าคิดจะทำเป็นรถแข่งเพียว ๆ เลยก็สามารถใช้กล่อง Standalone ใบเดียวเพื่อคุมทั้งระบบก็ได้ แต่ออกจะเป็นเรื่องที่ยุ่งยากโดยไม่จำเป็น เพราะในการคุมอุปกรณ์บางอย่างของรถนั้นอาจต้องซื้อ Sensor หรืออุปกรณ์ต่อพ่วงอื่น ๆ เพิ่ม

          กล่อง Standalone จะมีราคาสูงกว่าติดตั้งยากกว่าและใช้เวลาในการจูนนานกว่า นั่นก็เพราะตัวกล่องมักมาพร้อมกับสมองอันว่างเปล่า ไม่มีความจำมีแต่ความฉลาดพร้อมเรียนรู้ ดังนั้นจูนเนอร์จะต้องมานั่งปรับเซ็ตค่าทุกอย่างใหม่หมด ไม่ว่าจะเป็นรอบเครื่องช่วงใดและตำแหน่งคันเร่งเท่าไหร่ แต่ข้อเสียในส่วนนี้ก็ถูกทดแทนด้วยชิพและสมองกลที่มีประสิทธิภาพสูงกว่ากล่อง Piggyback สามารถประมวลผลได้รวดเร็ว สามารถแบ่งตารางไฟกับน้ำมันได้ละเอียดกว่า รวมถึงสนับสนุนการดัดแปลงระบบส่วนอื่นของเครื่องยนต์ เช่น การถอดAirflow ออกแล้วแทนที่ด้วย MAP Sensor หรือการถอดจานจ่ายทิ้งแล้วเปลี่ยนเป็นระบบคอยล์จุดระเบิดหลายตัว
          ตัวอย่าง ของกล่องประเภทนี้ ได้แก่ กล่อง F-Con V PRO จาก HKS หรือ Motec M800 รวมถึง Haltech

เนื้อหาบทความและรูปภาพจากคอลัมน์ Fart & Furious โดย Commander CHENG จาก www.headlightmag.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น